เคล็ดลับการ 'เลือกหมอน' ช่วยคนในบ้าน ลดเสี่ยงกระดูกคออักเสบ!

เคล็ดลับการ 'เลือกหมอน' ช่วยคนในบ้าน ลดเสี่ยงกระดูกคออักเสบ!
เชื่อว่าหลายครอบครัว คงเคยไม่สบายตัว จนปวดหลัง เพราะเลือกเตียงไม่เหมาะสมกันมาแล้ว เหมือนกันกับการเลือกหมอน พ่อบ้าน แม่บ้านส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร เพราะคิดว่า หมอนทุกใบ ก็เหมือนๆ กัน

แต่การเลือกหมอนที่ดี มีวิธีการเลือกมากกว่านั้น เพราะถ้าเลือกไม่เหมาะสม มีแนวโน้มสูงที่จะทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อคอ คอเคล็ด จนเกิดการเสื่อมอักเสบของข้อต่อกระดูกคอตามมาได้

ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพการนอนที่ดี ทีมงาน Life and Family ได้รับเทคนิคการเลือกหมอนที่น่าสนใจจาก "นพ.พุทธิพร เธียรประสิทธิ์" ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ มาเป็นทิปเลือกซื้อหมอนให้เหมาะสม ลดเสี่ยงอาการปวดคอ จนนำไปสู่การเสื่อม และอักเสบของข้อต่อกระดูกคอของสมาชิกในบ้านกันครับ

กับเรื่องดังกล่าวนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่น้อย เหตุที่ต้องใส่ใจกับการเลือกหมอนนั้น เนื่องจากกระดูกสันหลังของคนเรา มีลักษณะคล้ายกับตัว S ที่ช่วงหน้าอกจะงอไปข้างหลัง ช่วงคอจะงอมาด้านหน้า ทำให้เวลานอน จำเป็นต้องมีหมอนหนุนคอ เพื่อให้ได้รูปโค้งงอไปตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่หมอนทุกแบบ ที่จะช่วยให้รูปกระดูกเป็นไปตามธรรมชาติได้ ดังนั้น หมอนที่ดี ควรมีความนุ่มหนุนสบาย สามารถรองรับได้ตั้งแต่คอจนถึงศีรษะ โดยมีความสูงของหมอนประมาณ 4-6 นิ้ว รวมไปถึงความนุ่ม และรองรับศีรษะจนถึงบริเวณคอได้ทั้งหมด

สำหรับความแตกต่างระหว่างหมอนเตี้ย และนุ่มเกินไป กับหมอนสูง และแข็งเกินไปนั้น คุณหมออธิบายว่า ในส่วนของหมอนเตี้ย และนุ่มมากเกินไป เวลานอนหนุนจะเกิดการยุบตัวลง ทำให้แรงดันในหลอดเลือดสูง โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้เมื่อตื่นขึ้นมา จะเกิดอาการมึนศีรษะ หน้าตาบวม อาจทำให้เกิดอาการเหมือนกับคนตกหมอน ปวดเคล็ดต้นคอ หันซ้ายขวาลำบาก

ขณะที่การหนุนหมอนสูง และแข็งเกินไป จะทำให้ส่วนของศีรษะสัมผัสกับหมอนได้น้อย ทำให้ในส่วนที่สัมผัสกับหมอน เลือดจะไหลเวียนไม่สะดวก เพราะคอตั้งมากเกินไป นำไปสู่โรคเกี่ยวกับข้อต่อกระดูกต้นคอทับหลอดเลือด และเส้นประสาท หรือเกิดอาการเฉพาะที่ เช่น ปวดต้นคอ แขน และผู้ที่มีอาการหนัก อาจเกิดอาการนอนกรนได้อีกด้วย

"บ้านไหนที่มีคนเป็นโรคหัวใจ และปอด แนะนำว่า ควรจะนอนหมอนสูง เพื่อให้หัวใจ และปอดทำงานเบาลง ส่วนผู้ป่วยที่มีไข้สูง ควรหาหมอนน้ำให้หนุน เพื่อให้ความเย็น และช่วยลดความร้อนที่ศีรษะให้ดีขึ้นได้"

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


เลือกหมอนอย่างไร? ให้สอดรับกับท่านอน

ดังนั้น พ่อบ้าน แม่บ้าน ควรเลือกหมอนที่ไม่เตี้ยนุ่ม และสูงแข็งจนเกินไป แต่ควรเลือกให้เหมาะกับร่างกายจะดีที่สุด อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่การเลือกหมอนเท่านั้นที่สำคัญ ในเรื่องของท่านอน คุณหมอบอกว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับหมอนด้วย จึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับท่านอน ซึ่งแต่ละคน ล้วนมีท่านอนที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะนอนคว่ำ นอนหงาย หรือนอนตะแคงซ้ายขวา อย่างไรก็ดี เพื่อการเลือกหมอนให้สอดรับกับท่านอน คุณหมอมีวิธีแนะนำที่น่าสนใจตามแต่ละท่าดังนี้

* ท่านอนคว่ำ ท่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้หมอน แต่ถ้าหากใช้หมอน จะค่อนข้างแบน และอาจจะมีหมอนใบเล็กๆ หนุนตรงบริเวณท้อง เพื่อความสบายตัวของท่านผู้อ่านเอง

* ท่านอนหงาย สำหรับสมาชิกในบ้านคนไหน ชอบนอนในท่านี้ คุณหมอแนะว่า หมอนที่ใช้ ต้องนิ่ม และไม่สูง ควรให้มีการรองรับส่วนเว้าของกระดูกคอ หน้าไม่เงยไปข้างหลัง โดยตำแหน่งที่จะใช้หนุน ได้แก่ บริเวณศีรษะ คอ ไหล่ และเข่า

นอกจากนี้ตัวหมอนต้องกว้างพอที่จะไม่ต้องนอนเกร็งคอเพราะกลัวตกหมอน และหลีกเลี่ยงการใช้หมอนเป่าลม หรือหมอนที่บรรจุน้ำ เพราะจะทำให้ศีรษะกลิ้งไปมา ส่งผลให้กล้ามเนื้อคอเกร็งจนไม่เป็นอันหลับอันนอนกันพอดี

* ท่านอนตะแคง หมอนต้องสูงเท่ากับระดับความสูงจากไหล่มายังศีรษะ ซึ่งศีรษะต้องอยู่ในแนวเดียวกับกึ่งกลางลำตัว (ไม่ใช่ศีรษะตกลงมาที่ไหล่ข้างที่นอนทับ หรือเอียงขึ้นจากแนวกึ่งกลางลำตัวไปยังหัวไหล่ด้านตรงกันข้าม)

นอกจากนี้ คุณสมบัติอื่นๆ ของหมอน ทั้งในท่านอนหงาย หรือท่านอนตะแคง ต้องมีความกว้างพอเหมาะกับขนาดศีรษะด้วย โดยจะต้องไม่นิ่ม หรือแข็งจนเกินไป ซึ่งนอกจากหมอนแล้ว ที่นอน ควรมีเนื้อแน่น ไม่ยุบตัวลงเวลานอน แต่ไม่ใช่ว่าแข็งมากจนกดกระดูกของข้อไหล่ ที่สำคัญ ต้องไม่นิ่มมากจนเกินไป และต้องทำให้สามารถพลิกตัวไปมาได้ง่าย นั่นจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ไม่เป็นเหน็บชาเวลาตื่นนอน รวมทั้งป้องกันข้อไหล่ติดจากการนอนทับในท่าเดียวกันตลอดคืนด้วย

เห็นได้ว่า "หมอน" ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะซื้อหมอนอะไรมาหนุนนอนก็ได้ แต่ควรเลือกให้เหมาะสมตามคำแนะนำของคุณหมอข้างต้นด้วย เพียงเท่านี้ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอ หรือส่วนอื่นๆ ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย โดยเฉพาะอาการคอเคล็ด จนเกิดการเสื่อมอักเสบของข้อต่อกระดูกคอ ซึ่งถ้าเป็นแล้ว อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษา และเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย ส่งผลต่อหน้าที่การงานในระยะยาวได้


ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์/http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000015909