3 วิธีกำจัดความอ้วน 3 วิธีพิชิตโรคอ้วน

3 วิธีกำจัดความอ้วน 3 วิธีพิชิตโรคอ้วน
โรคอ้วนเป็นโรคที่มีปริมาณไขมันภายในร่างกายมากกว่าปกติ
ลักษณะการกระจายตัวของไขมันในร่างกายที่มีผลร้ายต่อสุขภาพมี 2 ประเภท คือ
1. โรคอ้วนทั้งตัว
ผู้ป่วยประเภทนี้ จะมีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ ไขมันที่เพิ่มขึ้นมิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดโดยเฉพาะ

2. โรคอ้วนลงพุง
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไขมันของอวัยวะในช่องท้องมากกว่าปกติ อาจมีไขมันใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องเพิ่มขึ้นด้วย

บางคนอาจเป็นเฉพาะโรคอ้วนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางคนอาจเป็นทั้งสองอย่าง


การวินิจฉัยโรคอ้วน
น้ำหนักตัวประกอบด้วยมวลไขมันและมวลไร้ไขมัน
การวัดปริมาณไขมันในช่องท้อง และไขมันใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องจะบอกได้ว่า เป็นโรคอ้วนลงพุงหรือไม่
แต่ถ้าเป็นการวินิจฉัยว่า เป็นโรคอ้วนทั้งตัวหรือไม่ เพื่อให้ได้คำตอบที่แน่นอน ก็ต้องวัดดูว่า
ปริมาณไขมันในร่างกายว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษ และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

ในทางปฏิบัติ จึงใช้ดัชนีความหนาของร่างกาย
เพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และอัตราส่วนเส้นรอบวงเอว ต่อเส้นรอบวงสะโพกเพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง

ดัชนีความหนาของร่างกาย เป็นมาตรการที่เหมาะสม
สำหรับใช้ประเมิน ภาวะการสะสม พลังงานในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป

ดัชนีดังกล่าวนี้ คำนวณจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วย (ส่วนสูงเป็นเมตร)
ของคนปกติจะมีดัชนีความหนาของร่างกายอยู่ระหว่าง 20.0-24.9 ก.ก./ม2.
ผู้ที่มีค่า < 20.0 ก.ก./ม2. จัดว่าผอม ส่วนผู้ที่มีค่า มากกว่าหรือเท่ากับ 25.0 ก.ก./ม2. จัดว่าเป็นโรคอ้วนทั้งตัว
ค่าดัชนีความหนาของร่างกายที่เพิ่มขึ้น บ่งบอกถึงความรุนแรงของโรคอ้วนด้วย

ส่วนค่าอัตราระหว่างเส้นรอบวงเอวต่อเส้นรอบวงสะโพก
คำนวณได้จากเส้นรอบวงเอวหารด้วยเส้นรอบวงสะโพก
โดยวัดเส้นรอบวงเอวที่บริเวณระดับสะดือ และเส้นรอบวงสะโพกที่ส่วนนูนที่สุดของสะโพก

ผู้ชายที่มีอัตราส่วนเส้นรอบวงเอวต่อเส้นรอบวงสะโพก
> 1.0 และผู้หญิงที่มีอัตราส่วนนี้
> 0.8 จัดเป็นผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง

การศึกษาพบว่า ชาวไทยในเขตเมืองที่มีฐานะความเป็นอยู่ดี กำลังประสบปัญหาโรคอ้วน
ผู้ชายไทยอายุ 20-60 ปี มีความชุกของโรคอ้วนทั้งตัว ร้อยละ 18.2 และโรคอ้วนลงพุงร้อยละ 1.5
ส่วนผู้หญิงไทยอายุ 20-60 ปี เป็นโรคอ้วนทั้งตัว ร้อยละ 27 และโรคอ้วนลงพุงร้อยละ 54.5

กลไกการเกิดโรคอ้วน การที่มนุษย์จะมีน้ำหนักตัวมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับดุลพลังงานของร่างกาย
ซึ่งขึ้นกับปัจจัย 2 ประการ คือ 1. พลังงานที่รับประทานอาหาร 2. พลังงานที่ร่างกายนำไปใช้

ผู้ที่มีดุลพลังงานเป็นบวก คือ
พลังงานที่รับประทาน มากกว่าพลังงานที่ร่างกาย นำไปใช้อย่างต่อเนื่อง จะเกิดเป็นโรคอ้วนในที่สุด


ผลร้ายของโรคอ้วนต่อสุขภาพ
คนอ้วนมีอัตราการเป็นโรค และอัตราตายสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ
โรคที่บั่นทอนสุขภาพ ของคนอ้วนคือ โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง
โรคเบาหวานไม่พึ่งอินซูลิน ภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติ โรคถุงน้ำดี โรคทางเดินหายใจ โรคข้อเสื่อม
และโรคมะเร็งบางชนิดในผู้ชาย ได้แก่ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
และโรคมะเร็งบางชนิดในผู้หญิง ได้แก่ โรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก โรคมะเร็งถุงน้ำดี โรคมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งรังไข่ และโรคมะเร็งเต้านม

ในบรรดาโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานไม่พึ่งอินซูลิน
และภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิด ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง


การป้องกันโรคอ้วน
-ทุกคนควรสนใจและสังเกตน้ำหนักตัวเอง อยู่เสมอ
-ใช้ดัชนีความหนาของร่างกายสามารถใช้ประเมินโรคอ้วนทั้งตัว
-ใช้อัตราส่วนเส้นรอบวงเอวต่อเส้นรอบวงสะโพกประเมินโรคอ้วนลงพุง
-เฝ้าระวังตนเองไม่ให้เกิดโรคอ้วน

ถ้าเกิดแล้วต้องรีบปรับตัวโดยรับประทานอาหารให้น้อยลง
ลดการบริโภคไขมันร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
หลักการสำคัญของการรักษาโรคอ้วนคือ ควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย


การควบคุมอาหาร มีหลักที่ต้องปฏิบัติ 3 ประการคือ

★1. การลดปริมาณพลังงานที่รับประทาน
ต้องลดปริมาณอาหารที่รับประทานอยู่ให้น้อยลง
ถ้ารับประทานอาหารน้อยลงกว่าเดิมวันละ 500 กิโลแคลอรี่ น้ำหนักตัวจะลดได้ ประมาณสัปดาห์ละ 0.45 ก.ก.
การลดน้ำหนักต้องใช้เวลาจึงต้องมีความตั้งใจ และอดทน
ห้ามลดน้ำหนักโดยการอดอาหาร เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

★2. จัดสัดส่วนของพลังงานที่รับประทานให้เหมาะสม
1 กรัมของโปรตีน หรือคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่
ส่วนไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ จึงต้องลดการบริโภคไขมันโดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ให้น้อยลง
รับประทานเนื้อไก่ เนื้อปลาที่ไม่มีไขมันให้มากขึ้น
ควรงดรับประทานน้ำอัดลม และขนมหวาน และใช้น้ำตาลทรายในการปรุงอาหารและเครื่องดื่มให้น้อยที่สุด
รับประทาน ผักและผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัด เพราะจะช่วยเพิ่มใยอาหารทำให้ไม่ท้องผูก และรู้สึกอิ่มไม่หิวบ่อย

★3. ออกกำลังกายต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ
การเดินอย่างกระฉับกระเฉงก็เป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง
การออกกำลังกายในแต่ละช่วงควรใช้เวลาประมาณ 15-45 นาที
โดยทำต่อเนื่องกันไปจนกระทั่งรู้สึกว่าเหนื่อยจึงพัก


คุณจะลดน้ำหนักได้มากน้อยเพียงใด นั้นขึ้นอยู่กับความสำนึกรับผิดชอบของคุณเอง
ต้องกระทำในสิ่งที่กล่าวแล้วอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องจึงจะสัมฤทธิผล


โดย ศ.น.พ.วิชัย ตันไพจิตร
จาก มติชน
ที่มา : http://www.elib-online.com/doctors/obes2.html
ภาพจาก :http://www.bienhealth.com