คงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่ใช่น้อย กับการจะเลี้ยงลูกให้มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ รวมไปถึงมีคุณธรรม (เป็นเด็กดี)

เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนี้ “นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล” จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวได้น่าสนใจว่า สาเหตุที่ทำให้ลูกมีปัญหาด้านพฤติกรรม และสุขภาพจิตส่วนใหญ่ มาจากการเลี้ยงดูเป็นหลัก ส่วนที่เหลือมาจากความเจ็บป่วยของตัวเด็กเอง ที่ส่งผลตามมาทางด้านพฤติกรรม ไม่ว่าสาเหตุมาจากที่ใดก็ตาม แต่คงต้องย้อนมองกลับไปที่ครอบครัวด้วยว่า เลี้ยงลูกกันอย่างไร และครอบครัวมีลักษณะอยู่บนปากเหวหรือไม่
*** ชี้ต้นเหตุให้เห็นทางแก้
สำหรับลักษณะของครอบครัวที่มีความเสี่ยงนั้น จิตแพทย์ได้ชี้ให้เห็นภาพว่า พ่อแม่ที่มีปัญหาทางด้านบุคลิกภาพ จะสะท้อนวิธีคิดที่ไม่เหมาะสมไปตามปัญหาบุคลิกภาพของพ่อแม่เหล่านั้น เช่น ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไม่มีทักษะในการสื่อสารหรือแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล รวมไปถึงพ่อแม่ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ป่วยเป็นโรคจิตเวช (ไม่ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ก็ตาม) เมื่อมีลูก ย่อมมีความเสี่ยงที่จะถ่ายทอดความเจ็บป่วยมาทางพันธุกรรมได้เช่นกัน
นอกจากนี้ จิตแพทย์ได้ยกตัวอย่างต่อว่า พ่อแม่ที่มีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลี้ยงดูลูก เช่น พ่อคิดอย่าง แม่คิดอย่าง บางครั้งญาติแต่ละฝ่ายก็คิดอีกอย่างหนึ่ง เด็กจึงเกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี ในที่สุดก็ตามเพื่อนเพราะคิดว่าเข้าใจตนดีที่สุด หือพ่อแม่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แม้ไม่ใช่สาเหตุหลักแต่ก็พบว่าเป็นสาเหตุที่เจอได้บ่อยที่ทำให้ลูกสับสนในการดำเนินชีวิต เช่น การไม่สื่อสารแบบตรงไปตรงมา จนลูกสับสนว่าโลกแห่งความเป็นจริงนั้นคืออะไร การคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลเป็นอย่างไร เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ครอบครัวที่ขาดความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา บางเรื่องก็มีความตึงเกินไป บางเรื่องก็หย่อนจนเกินไป โดยอ้างเหตุผลความชอบของตนเอง แต่ไม่ได้อ้างอิงตามสถานการณ์ภายนอก หรือมาตรฐานของสังคมที่ควรจะเป็น ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากับลูกได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม “นพ.กัมปนาท” ได้ยกตัวอย่างลักษณะลูกที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวในอนาคตว่า ลูกที่เติบโตมาพร้อมกับความเอาใจของครอบครัว คอยช่วยเหลือจนเด็กไม่เคยช่วยเหลือตนเองเลย เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนเอง ขาดการควบคุมตนเองที่ดีพอ มีปัญหาที่รุนแรง เช่น ก้าวร้าวใส่ผู้อื่น หรืออาจก้าวร้าวใส่ตนเอง เช่น การทำร้ายตนเองก็ได้ หรือไม่อาจไปติดสารเสพติด หรือติดอะไรทั้งหลายที่พึงจะติดได้ เช่น ติดเกม ติดอินเตอร์เน็ต ติดการพนัน
หรือลูกที่เติบโตท่ามกลางพ่อแม่ที่ขาดวินัย ไม่สามารถเป็นแบบอย่างของการมีวินัยให้ลูกเห็นได้ รวมทั้งไม่สามารถควบคุมลูกให้อยู่ตามกฎเกณฑ์ที่ควรเป็น เพราะรู้สึกว่าการควบคุมให้ลูกมีวินัยนั้นเป็นการทำร้ายจิตใจลูก เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางชีวิตที่ไม่มีกฎระเบียบ ไม่มีเป้าหมายชีวิตที่แน่นอน ขาดความอดทนต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต
ไม่ต่างจากลูกที่เติบโตท่ามกลางการขาดความรักอย่างแท้จริง มิใช่การตามใจแล้วบอกว่ารักหรือเลี้ยงลูกด้วยการให้เงินปรนเปรอความสุขเพื่อทดแทนเวลาที่พ่อแม่ไม่สามารถให้ได้ มักนำไปสู่ปัญหาบุคลิกภาพแบบขาดความรัก พึ่งพิงผู้อื่น และอิจฉาผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา มักลงเอยด้วยอารมณ์ซึมเศร้าแ ละบางรายอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้
ในขณะที่ลูกเติบโตมาท่ามกลางการขาดคุณธรรม จริยธรรม ข้อนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก พบว่าเด็กที่เกิดมาท่ามกลางครอบครัว หรือคนใดคนหนึ่งในครอบครัวที่ขาดคุณธรรมจริยธรรม เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมนั้นๆ จนกลายเป็นปัญหาติดตัวในที่สุด
*** แนะ 5 เทคนิควิธีเลี้ยงลูกยุคใหม่
เพื่อคลายปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา จิตแพทย์แนะ 5 ข้อคิดสำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงลูก ไว้ว่า
1. จัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของพ่อแม่ให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาจัดการลูก
2. ตระหนักว่าการลงทุนเลี้ยงลูกด้วย "ใจ" มีความสำคัญกว่าการ "ให้เงิน" อย่างแน่นอน
3. ระเบียบวินัยเป็นเรื่องสำคัญมากในทุกครอบครัว ซึ่งหมายความว่าลูกคุณจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความอดทนร่วมด้วย
4. คุณธรรม จริยธรรมสำคัญที่สุดที่ทุกครอบครัวต้องมีและเป็นแบบอย่างให้กับลูกหลานต่อไป
5. หากแก้ปัญหาเองไม่ตก ขอให้มาปรึกษากับบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต ไม่ควรคิดเองเออเอง หรือหลงเชื่อคนที่ไม่มีประสบการณ์ที่ถูกต้องและเหมาะสม
จะเห็นได้ว่า การมีลูกถือเป็นความภูมิใจ และความปลื้มปีติของพ่อกับแม่ แต่การมีลูกแล้ว พ่อแม่จะต้องเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนเต็มคนด้วย นั่นคือ เลี้ยงให้ลูกมีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและมีหัวใจคุณธรรม ซึ่งวิธีที่จะสอนได้ดีที่สุดคือ การใช้ความรัก ให้เวลา (คุณภาพ) และเข้าใจธรรมขาติของลูกในแต่ละช่วงวัย แล้วลูกจะเติบโตมาเป็นอนาคตของชาติที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000093207