แนะแม่ตั้งครรภ์ร่าเริงเข้าไว้ ดีกว่าให้ลูกเกิดมา "ก้าวร้าว"

แนะแม่ตั้งครรภ์ร่าเริงเข้าไว้ ดีกว่าให้ลูกเกิดมา "ก้าวร้าว"
เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่โยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสภาพอารมณ์ของผู้เป็นแม่ในขณะตั้งครรภ์กับพัฒนาการของทารกในครรภ์ เมื่อพบว่า หากระหว่างที่ตั้งครรภ์นั้น ผู้เป็นแม่ประสบกับภาวะเครียด เศร้า หดหู่บ่อย ๆ จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีโอกาส "ก้าวร้าว" ในช่วงวัยรุ่นสูงกว่าเด็กที่แม่มีสภาพจิตใจร่าเริงได้

ไม่เพียงเท่านั้น ผลกระทบที่เกิดจากความหดหู่ของแม่ตั้งครรภ์เมื่อส่งต่อไปยังลูกทำให้ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวแล้ว ก็ยังทำให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาส "หดหู่-เศร้าหมอง" ในอนาคตเมื่อตนเองต้องตั้งครรภ์เป็นแม่คนด้วยเช่นกัน

ศาสตราจารย์เดล เอฟ. เฮย์ (Dale F. Hay) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Cardiff ผู้ทำการศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าวได้ระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการเก็บข้อมูลจากครอบครัวชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชน ผ่านการสัมภาษณ์ โดยเป็นเด็กวัยรุ่นชาวอังกฤษจำนวน 120 คน ในช่วงที่เด็กเหล่านั้นอายุ 4, 11 และ 16 ปี รวมถึงพ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า แม่ของเด็กถึง 1 ใน 3 หรือเท่ากับ 40 คนมีอาการซึมเศร้าระหว่างตั้งครรรภ์

นักวิจัยระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครอบครัวเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตเมืองที่มีความจอแจ และบางแห่งก็เป็นแหล่งเสื่อมโทรม จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดจึงทำให้ผู้เป็นแม่เกิดความรู้สึกไม่สบายใจไม่สบายกายในระหว่างตั้งครรภ์ได้

นอกจากนั้น จากการสัมภาษณ์เด็กทั้ง 120 คน ศาสตราจารย์เฮย์ และทีมงานระบุว่า เด็กกลุ่มที่มารดามีภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรรภ์ เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นมีโอกาสจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้มากกว่าเด็กคนอื่น ๆ ถึง 4 เท่า ในขณะที่เด็กวัยรุ่นซึ่งขณะตั้งครรภ์ ผู้เป็นแม่มีอารมณ์ร่าเริงมีความเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้น้อยกว่า โดยเธอยังได้อ้างถึงงานวิจัยในอดีตที่มีการศึกษาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของแม่ตั้งครรภ์ว่ามีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ขึ้นมากล่าวด้วย อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้ของเธอ ไม่ได้นำเรื่องยีนเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

"จากงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงที่เคยมีประวัติด้านพฤติกรรมก้าวร้าว มีโอกาสจะเป็นโรคซึมเศร้าได้เมื่อพวกเธอตั้งครรภ์ เธอจึงเป็นคุณแม่กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษหากจะให้กำเนิดทารก" ศาสตราจารย์เฮย์กล่าวปิดท้าย

เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะหดหู่ ซึมเศร้าต้องทำร้ายคุณแม่ตั้งครรภ์ดังกล่าว ทีมงาน Life & Family จึงได้มองหาแนวทางป้องกัน-แก้ไขจาก womenhealth.com มาฝากกันค่ะ ซึ่งได้แก่
1. จงเลือกเป็นผู้ควบคุมชีวิตของตัวเอง

เริ่มจากการสำรวจตรวจสอบรูปแบบการใช้ชีวิตของคุณ ด้วยการจดสิ่งที่คุณทำในแต่ละวันลงในกระดาษ ทั้งงานบ้าน งานที่ออฟฟิศ และงานอื่น ๆ จากนั้นก็พิจารณากิจกรรมเหล่านั้นด้วยใจที่เป็นธรรมสักนิดว่ามันเป็นกิจกรรมที่ทำให้คุณรู้สึกพอใจหรือไม่ คุณใช้เวลาหมดไปกับสิ่งเหล่านั้นมากเกินกว่าจะหันมาสนใจตัวเอง หาเวลาให้ตัวเองหรือไม่ หรือมันเป็นงานที่คุณทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจกับมันหรือไม่

หากผลออกมาเป็นไม่ ก็ถึงเวลาที่คุณต้องตัดบางสิ่งออก และหันมาใส่ใจกับการให้เวลาตัวเองด้วยการเลือกทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ สนใจ และมีความสุขแทน ซึ่งคุณก็จะได้เวลาบางช่วงกลับคืนมา เช่น ได้นอนหลับแต่หัวค่ำขึ้น ได้อ่านหนังสือที่มีประโยชน์สำหรับแม่ตั้งครรภ์มากขึ้น ฯลฯ

2. ยอมรับว่ามีบางอย่างที่คุณควบคุมไม่ได้เหมือนกัน

แม้ว่าจะผ่านข้อแรกมาด้วยการบอกว่า ให้คุณกลับขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมชีวิตตัวเอง แต่กระนั้น การตั้งครรภ์ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้อยู่เช่นกัน เช่น อาการแพ้ท้อง ความรู้สึกหงุดหงิด การปวดหลัง ปวดขา นิ้วชา หรือการนัดหมายกับแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ ดังนั้น ในจุดที่ควบคุมไม่ได้ ก็ยอมรับกับตัวเองว่าควบคุมไม่ได้จะเป็นผลดีต่ออารมณ์และความรู้สึกมากกว่าการปฏิบัติตัวในเชิงต่อต้าน

3. จงเป็นผู้ประเมินความรู้สึกตัวเอง

ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสามี แพทย์ เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน หรือพ่อแม่ มาเป็นผู้ประเมินความรู้สึกของคุณ เพราะคุณเองคือผู้ที่ทราบว่าคุณต้องการอะไร งานที่คุณทำหนักเพียงใด คุณพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ รับประทานอาหารน้อยไปหรือเปล่า เพราะทั้งหมดนี้คือ การใช้ชีวิตของคุณเองในระหว่างตั้งครรภ์ จากนั้น จึงค่อยนำผลที่ประเมินได้มาขอคำปรึกษา-ความช่วยเหลือจากแพทย์ สามี หรือคนรอบข้างถึงวิธีการที่เขาเหล่านั้นจะช่วยเหลือคุณให้พ้นจากภาวะดังกล่าว

4. อย่าเก่งคนเดียว..หาเวลาพักบ้าง

หากงานที่ทำไม่ใช่งานเฉพาะเจาะจงเช่น งานด้านกฎหมาย แต่เป็นงานทั่วไปในองค์กร การแจ้งหัวหน้างานเกี่ยวกับงานที่คุณทำได้ และไม่ควรทำก็เป็นเรื่องที่ดี เพื่อที่จะได้มีการจัดงานใหม่เหมาะสม และคุณจะได้ไม่เครียดมากจนเกินไป และเมื่อมีงานที่เหมาะสมแล้ว คุณอาจหาเวลาว่างเพิ่มเติมเพื่อตัวเอง กรณีนี้ต่างจากการพักเมื่อมีเวลาว่าง แต่หมายถึงการหาเวลาเพื่อการพักผ่อน หรือทำในสิ่งที่มีความสุขสำหรับตัวเองโดยเฉพาะ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ทั้งนี้คุณต้องไม่ต้องรู้สึกผิดที่มีเวลาดังกล่าวด้วยนะคะ

5. เขียนบันทึกความรู้สึกของตัวเอง

คล้าย ๆ กับการคุยกับตัวเอง แต่เป็นการเขียนมันลงบนกระดาษ หรือบล็อก ฯลฯ วิธีการนี้เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้คุณพบกับวิธีจัดการกับความรู้สึก และช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้

ที่มา http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000017889