นิ้วล็อกจะทำยังไงดี ?

นิ้วล็อกจะทำยังไงดี ?
ใครที่อายุสี่สิบอัพและใช้มือทำงานมาก ๆ ต้องระวังภาวะที่น่าหงุดหงิดใจอย่างหนึ่ง นั่นคือเกิดภาวะนิ้วล็อกขึ้นมา
ภาวะนิ้วล็อกหรือโรคนิ้วล็อกมันจะรบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ฉะนั้นเราควรรู้จักมันให้มากขึ้น
ศูนย์ศัลยกรรมทางมือ โรงพยาบาลเวชธานี ให้ข้อมูลว่า ภาวะนิ้วล็อกหรือ ′Trigger Digit′ รวมทั้งที่เกิดที่นิ้วหัวแม่มือและนิ้วมือ แปลตามพจนานุกรมคือ ภาวะที่มีการสะดุดหรือติดสะดุด สามารถเรียกโรคนี้ได้ว่า ′โรคนิ้วติดสะดุด′ ส่วนอาการล็อกนั้นจะเป็นระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งข้อนิ้วมือจะไม่สามารถเหยียดออกเองได้ หรือออกมาได้ด้วยความยากลำบาก

โรคนี้พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุประมาณ 40-50 ปี โดยมากจะเกิดกับผู้ที่ใช้มือทำงานในลักษณะที่เกร็งนิ้วบ่อย ๆ กลุ่มนี้สาเหตุอยู่ที่การหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็นตรงบริเวณปลายมือ (A1-pulley) คนปกติมีปลอกหุ้มเส้นเอ็นชนิดนี้หุ้มเส้นเอ็นด้วยกันทุกคน แต่เส้นเอ็นจะสามารถลอดผ่านได้อย่างง่าย โดยไม่มีการบีบรัด ซึ่งในภาวะนิ้วติดสะดุดนี้จะมีการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นมากขึ้นจากสาเหตุที่มีการเสียดสี หรือมีแรงกดภายในปลอกหุ้มเส้นเอ็นเป็นเวลา นาน ๆ เช่น พฤติกรรมการใช้มือดังกล่าวมาแล้ว โดยอาจมีความหนาเพิ่มขึ้นจากปกติ 5-7 เท่า นอกจากความหนาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความยืดหยุ่นก็ลดลง ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ จะเกิดการบีบรัดเส้นเอ็นขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

ระยะแรก จะมีอาการปวดบริเวณปลายมือและนิ้วมือที่ถูกบีบรัด ถ้าใช้นิ้วมืออีกข้างกดไปที่บริเวณปลายมือจะมีอาการเจ็บขึ้นมา ระยะนี้ยังไม่มีอาการติดสะดุดให้เห็น สามารถตอบสนองดีต่อการรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ การพักการใช้นิ้วมือ การปรับกิจกรรม การใช้นิ้วมือให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งการฉีดสเตอรอยด์เข้าเฉพาะที่

ระยะที่ 2 อาการปวดมักจะเพิ่มมากขึ้น ระยะนี้จะเริ่มมีก้อนคลำได้ที่ปลายมือ ถ้างอนิ้วไปมาจะคลำเจอก้อนที่วิ่งผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็น ระยะนี้จะมีการติดสะดุด ซึ่งอาการมีได้ตั้งแต่สะดุดเล็กน้อยจนถึงอาการสะดุดมากจนน่ารำคาญ ควรให้การรักษาเหมือนระยะแรก แต่ผลการรักษาจะแย่กว่า

โดยเฉพาะถ้ามีอาการติดสะดุดมากกว่า 3 เดือน มักจะไม่หายสะดุด ซึ่งอาจต้องได้รับการผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นออก

ระยะที่ 3 จะมีการล็อกของนิ้ว ในบางรายจะไม่สามารถเหยียดนิ้วออกมาได้ หรือทำได้ด้วยความลำบาก ระยะนี้มักจะลงเอยด้วยการผ่าตัด ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก

ส่วนการรักษานั้น การฉีดยาสเตอรอยด์เฉพาะที่จะเป็นการรักษา ที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ส่วนมากผู้ป่วยมักจะหายเจ็บและบางรายจะรู้สึกว่าอาการติดสะดุดลดลง ส่วนข้อจำกัดก็มี เช่น ไม่สามารถฉีดได้บ่อย ๆ การฉีดไม่ควรเกิน 1-2 ครั้ง ในรอบ 1 ปี โดยประสบการณ์ส่วนตัวจะฉีดไม่เกิน 1-2 ครั้ง ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องผ่าตัด

นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน หรือพวกที่มีเยื่อหุ้มเอ็นอักเสบ เช่น รูมาตอยด์ การฉีดยาชนิดนี้จะได้ผลไม่ดีนัก


ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์