วิกฤตเด็กไทยผอม-อ้วน-เตี้ย...เรียนไม่เก่ง

วิกฤตเด็กไทยผอม-อ้วน-เตี้ย...เรียนไม่เก่ง
ฟังเกริ่นหัวเรื่องแล้วหนาวไหม...
นี่แหละ เป็นข้อมูลที่ผู้ใหญ่เขาสืบค้นกันมาแล้วว่าเด็กไทยกำลังอยู่ในภาวะถดถอยเช่นนี้
ผอม-อ้วน-เตี้ย คือ ภาวะที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลัง ′ขาด′ และ ′เกิน′ มากกว่าปกติ
ถ้าผอม ก็จะจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ′ขาดอาหาร′ ได้เลย แต่ถ้า อ้วน ก็จะอยู่ในกลุ่มที่ ′โภชนาการล้น′
และการขาดหรือเกินดังว่า ผลที่กระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่นั้นส่งไปถึงเรื่องของ ′สรีระ′ และ ′สติปัญญา′ ด้วย
ข้อมูลวิจัยจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า 12 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยมีระดับเชาว์ปัญญาและพัฒนาการสมวัยต่ำลง เทียบจากระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 90-110 โดยเด็กทั่วไปในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 104
หากสำหรับเด็กไทยนั้นจากเดิมอยู่ที่ 91 แต่ ณ ปัจจุบัน เหลืออยู่ที่ 88 โดยเฉพาะเด็กน้อย 0-5 ขวบ ระดับพัฒนาการสมวัยจาก 72 เหลือ 67 เท่านั้น !
สาเหตุทั้งหมดนี้อยู่ที่ ′การบริโภค′ ของเด็กรุ่นใหม่ ที่ต้องบอกว่าก้าวเข้าสู่ขั้น ′ใกล้วิกฤต′ เต็มทีแล้ว
เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นทารกที่พบว่ามีเด็กที่โชคดี ได้กินนมแม่เต็มที่ล้วนๆ ขั้นต่ำ 6 เดือนเพียง 30 % เท่านั้น
ส่วนเด็กอายุ 6-12 เดือน ก็ได้รับอาหารไม่เหมาะสมตามวัยมากถึง 45 %
ขณะที่เด็กโตก็จะตกอยู่ในห้วงของแฟชั่นที่ลุ่มหลงอาหารฝรั่ง ชอบกินอาหารแบบ ′แดกด่วน′ รวมทั้งขนมถุง กรุบกรอบ

น้ำหวาน น้ำอัดลม จนทำให้เด็กไทยกินขนมอย่างว่านี้ไปแล้วต่อปีเฉลี่ยคนละ 9,800 บาท ขณะที่เงินทองที่ต้องใช้จ่ายเพื่อการศึกษานั้นอยู่ที่ราวคนละ 3,024 บาทต่อปี
ยังไม่พอ เด็กรุ่นนี้นิยม ′ไม่กินผัก′ อีกต่างหาก โดยพบว่า ต่อคนกินผักวันละ 1.5 ช้อนโต๊ะเท่านั้น ทั้งๆ ที่ควรจะกิน ไม่ต่ำกว่า 12 ช้อนโต๊ะ
ทุพโภชนาการ จึงกำลังรุกรานเด็กไทยไปทั่วประเทศ ทำให้เด็กๆ เผชิญกับสิ่งต่างๆ อย่างไม่รู้ตัว เกิดโดยเฉพาะเรื่องของ ′ความอ้วน′ ที่ขยับเข้าถึงอันดับโลกแล้ว พอๆ กับ ′ความเตี้ยแคระแกร็น′ ที่กำลังเป็นปัญหาไม่น้อยไปกว่ากัน แถมยังมีโรคอันตรายเป็นของแถมอย่างน้อยอีก 16 โรค ตั้งแต่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ขาดสารไอโอดีน โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
ความขาดๆ เกินๆ นี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลถึงสุขภาพร่างกายและสติปัญญาของเด็ก แต่ยังมีผลทำให้รายได้ของประเทศลดลงถึงร้อยละ 2 - 3 แต่กลับไปงอกทางด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอย่างมาก โดยในปี 2548 เฉพาะค่ารักษาแค่ 3 โรค อย่างเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหัวใจและหลอดเลือด ต้องใช้เงินไปมากถึง 70,000 ล้านบาท
วิกฤตครั้งนี้จึงทำให้ผู้ใหญ่จาก 6 หน่วยงานสำคัญ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผนึกกำลังช่วยกัน กอบกู้ภาวะ
เป้าหมายคือ ทำให้เด็กไทยมีโภชนาการสมวัย มีคุณค่ามีอาหารการกินอาหารเพียงพอ ครบถ้วนในทุกๆ วันอย่างยั่งยืน โดยจะบุกเข้าไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนากันแบบละเอียดยิบตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็ก ไปจนถึงครอบครัว โดยตั้งใจว่า ภายในปี 2555 นี้ เด็กที่เข้าโครงการทั้ง 145,000 คน จะต้องมีน้ำหนักและส่วนสูง เติบโตแข็งแรงอยู่ในเกณฑ์ได้สมวัยให้ได้อย่างน้อย 85 %
โครงการนี้จะเริ่มขึ้นใน 10 จังหวัดนำร่อง เชียงใหม่ ลำปาง อุดรธานี ขอนแก่น เพชรบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี สงขลา ภูเก็ต และ กรุงเทพมหานคร เป็นเบื้องต้น
นอกจากจะเปิดทางให้กับหน่วยงานทำงานอย่างเต็มที่แล้ว พ่อ แม่ ครูอาจารย์ ผู้ปกครองที่ใกล้ชิดควรตระหนักและใส่ใจในเรื่องอาหารการกินของเด็กๆ ร่วมด้วย ก็จะยิ่งเป็นเรื่องดี
จะได้ไม่มีใครพูดได้ว่า ผอม-อ้วน - เตี้ย - เรียนไม่เก่ง นี่แหละคุณสมบัติของเด็กไทย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์