แม้ว่าการเกิดขึ้นของสถาบันครอบครัวควรจะมีจุดเริ่มต้นจากความรักความเข้าใจเป็นประเด็กหลัก แต่ก็ไม่เสมอไปที่ทุกครอบครัวจะมีที่มาจากจุดดังกล่าว เมื่อล่าสุดมีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า นักธุรกิจไทยนิยมแต่งงานเพื่อสร้างเครือข่าย อันนำมาซึ่งผลประโยชน์ และการผูกขาดทางธุรกิจ โดยจะเน้นที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สัมปทานภาครัฐ สื่อสารโทรคมนาคมเป็นสำคัญ

“เป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจบางประเภทเท่านั้นที่มีความนิยมและเติบโตอย่างมากในลักษณะการแต่งงานด้วยวิธีการสร้างเครือข่าย ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจทั่วๆ ไป แต่เป็นธุรกิจที่มีความพิเศษ อาทิ ธุรกิจการทำสัญญาสัมปทานกับภาครัฐหรือเป็นธุรกิจด้านการจัดสรรที่ดิน สื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจประเภทนี้ต้องอาศัยการเอื้อประโยชน์และสนับสนุนจากภาครัฐ ในกรณีนี้เราจะพบว่าครอบครัวนักธุรกิจมีโอกาสอย่างมากที่จะไปแต่งงานกับครอบครัวข้าราชการระดับสูงหรือเป็นครอบครัวนักการเมือง นอกจากนี้ยังพบว่ายังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ หรืออาจจะเป็นครอบครัวที่ทำหลายๆ ธุรกิจภายในครอบครัวก็จะมีการแต่งงานโดยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ เพราะการแต่งงานคือการรวมทรัพยากรเข้าด้วยกัน งานวิจัยทำให้เห็นการเอื้อประโยชน์ ทำให้ทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้น มีการช่วยเหลือกันในการทำธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่ทำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมาก ๆ เมื่อแต่งงานจะมีการเกื้อหนุน นำเงินมาร่วมทุนกัน เรียกว่าเงินต่อเงินเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในยุคปัจจุบันการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งต้องลงทุนสูง ๆ ทำได้ยากมากหากไม่มีการช่วยเหลือกันในลักษณะการสร้างเครือข่ายโดยผ่านการแต่งงาน"
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้สรุปว่าคนกลุ่มนี้มีความรักให้แก่กันหรือไม่ เพราะผู้ทำวิจัยไม่ได้ลงลึกไปถึงเรื่องความรักหรือไม่รัก
ด้าน ดร.จิตตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า "นิยามความรักของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในกลุ่มนักธุรกิจที่ใช้การแต่งงานเพื่อสร้างเครือข่ายให้ธุรกิจตัวเองได้ผลประโยชน์นั้นก็มีนิยามรักที่ต่างกันไป ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งถ้ามีเหตุผลมากเกินไปบางครั้งก็ทำให้มองแต่ผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง และความรักที่มุ่งแต่ผลประโยชน์หรือตัวเลขทางธุรกิจนั้นจะคิดแต่เติมเต็มผลประโยชน์เพื่อธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ และคิดแต่จะกอบโกย นั่นอาจทำให้คนกลุ่มไม่เคยได้สัมผัสรักแท้ ท้ายที่สุดก็จะโดดเดี่ยวอ้างว้าง"
"แม้ว่าบางคนจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแต่ก็ยังรู้สึกห่างเหินกัน เพราะเขาขาดซึ่งอารมณ์และความรู้สึก บางครอบครัวดูเหมือนจะรักกันดี ออกงานสังคม ดูมีเกียรติแต่เมื่อกลับมาถึงบ้านต่างคนต่างอยู่ก็มีให้เห็นมากมาย บางคนไม่ยอมแยกทางแม้ว่าจะดูห่างเหินกันก็ตามเพราะเขายึดเหตุผลเรื่องผลประโยชน์ คือต้องอยู่เพื่อผลประโยชน์เป็นหลัก คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีความสุขมากนัก จะเห็นบางคนมีข่าวคบหาคนอื่น ๆ ขณะตัวเองก็ยังมีสามีหรือภรรยาอยู่แล้ว"
นอกจากนั้นยังพบว่า ประเทศกำลังพัฒนา การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจโดยการแต่งงานจะถูกหยิบขึ้นมาใช้แพร่หลายกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมีการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในลักษณะอื่น ๆ มากกว่า เช่น การส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนเดียวกัน หรือการสร้างเพื่อนผ่านการทำความรู้จักกัน เพราะเพื่อนคือส่วนสำคัญในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในอนาคต
โดย รศ.ดร. ประมวล กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ยังคงต้องทำต่อไป เพื่อศึกษาในเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผูกขาดตลาด หากกลุ่มธุรกิจที่โยงใยกันเป็นเครือญาตินี้จะร่วมกันกีดกันไม่ให้ผู้แข่งขันรายอื่น ๆ สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดที่ตนเองครอบครองอยู่ได้เลย
ทั้งหมดนี้ คงเป็นอีกหนึ่งผลวิจัยที่น่าเศร้า หากในกลุ่มของผู้ที่มีการศึกษา และมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ยังไม่มีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตครอบครัวจากความรักเหมือนเช่นครอบครัวธรรมดา ๆ ครอบครัวอื่น
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์/http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000021567