"ธนินท์ เจียรวนนท์" เจ้าสัวอาณาจักร ซี.พี. ถึงประสบความสำเร็จในชีวิต และประสบความสำเร็จในธุรกิจ?

คิดอย่างนักบริหาร

สาโรจน์ มณีรัตน์

ส่วนผสมของความสำเร็จ

มีคนชอบตั้งคำถามว่า ทำไม "ธนินท์ เจียรวนนท์" เจ้าสัวอาณาจักร ซี.พี. ถึงประสบความสำเร็จในชีวิต และประสบความสำเร็จในธุรกิจ?

คำตอบอาจมีหลากหลายแง่มุม และหลายมิติ

และขึ้นอยู่กับว่าผู้ตอบนั้นจะรู้จัก "ธนินท์" มากน้อยแค่ไหน

แต่ในทางข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าว และปรากฏจากบทสัมภาษณ์ที่ "ธนินท์" ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ และนิตยสารเพียงไม่กี่เล่ม พบว่า ความสำเร็จในชีวิต และความสำเร็จในอาณาจักรธุรกิจของเขานั้นต่างเกิดขึ้นจากส่วนผสมหลายส่วนด้วยกัน

ส่วนแรกคงเกิดจากคำพูดของ "เตี่ย" เจี่ย เอ็กซอ ที่บอกเขาในวัยเด็กว่า‚ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม จงพึงระลึกเสมอว่า ความล้มเหลวคือแม่ของความสำเร็จ

และความล้มเหลวต้องเกิดขึ้นจากการเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

กล่าวกันว่า ด้วยคำพูดของ "เตี่ย" ครั้งนั้น ที่ทำให้ "ธนินท์" เกิดความคิดว่า เมื่อหลังเรียนจบอนุปริญญา จากวิทยาลัยแห่งหนึ่งในฮ่องกง เขาจึงน่าที่จะออกไปหาประสบการณ์ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงบ้าง

ทางหนึ่งเพื่อเรียนรู้ชีวิต

ทางหนึ่งเพื่อเรียนรู้ธุรกิจ

และทางหนึ่ง เพื่อนำประสบการณ์ทั้งหมดมาหลอมรวม เผื่อว่าวันหนึ่งจะได้เป็นเจ้าของธุรกิจกับเขาบ้าง และที่สุดวันนั้นก็มาถึง เมื่อเขาเข้าไปทำงานยังบริษัท สามัคคีค้าสัตว์

ที่นี่ไม่เพียงทำให้ "ธนินท์" รู้จักโลกแห่งธุรกิจค้าสัตว์ปีก และไข่ไก่ หากยังทำให้เขารู้จัก "ดร.ชำนาญ ยุวบูรณ์" ปรมาจารย์ทางด้านรัฐพาณิชย์อีกด้วย

"ธนินท์" ยอมรับว่าประสบการณ์จากการทำงานในโลกแห่งธุรกิจค้าสัตว์ปีก และไข่ไก่นั้น ช่างแตกต่างจากธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์ผักของบริษัท เจียไต๋ ซึ่งเป็นธุรกิจของ "เตี่ย" อย่างสิ้นเชิง

เขารู้สึกหลงรักในธุรกิจนี้ และเขาก็รู้สึกว่า ประสบการณ์จากการทำงานที่บริษัท สามัคคีค้าสัตว์ คงไม่เพียงพอเสียแล้ว เขาน่าที่จะลาออกไปหาประสบการณ์ที่อื่นบ้าง

ที่สุดเขาจึงไปทำงานยังบริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในการเลี้ยงไก่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา

อีกประการ อาจเป็นเพราะ "ธนินท์" มีความคิดว่า หากอยากได้ลูกเสือ ก็จำเป็นต้องเข้าถ้ำเสือ

ซึ่งเขาก็ได้ลูกเสือกลับมาจริงๆ และใช่แต่เพียงลูกเสือเท่านั้นที่เขาได้ หากเขายังได้กลวิธีในการบริหารจัดการฟาร์ม กลวิธีในการบริหารพนักงาน และกลวิธีในการทำตลาดแบบสากลอีกด้วย

ทั้งนั้นเพราะ "ธนินท์" คิดว่าตัวเขานั้นเปรียบเสมือนน้ำที่ยังไม่เต็มขวด ดังนั้น เขาจึงต้องพยายามศึกษาหาความรู้จากผู้อื่นอยู่เสมอ

ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นส่วนผสมที่สอง ในเรื่องของการศึกษาหาความรู้

"ผมมีคติของผมอย่างหนึ่งว่า มนุษย์เรานี้ ถ้าเรายกย่องเขา เขาก็จะยอมแพ้ให้เราหมดกระเป๋า ถ้าเราอวดดี เขาก็ไม่สอนเรา ฉะนั้น เราอย่าไปเถียงอาจารย์"

"ดังนั้น ความรู้ของผมส่วนใหญ่มาจากด๊อกเตอร์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ขณะเดียวกัน เวลาผมไปต่างประเทศ ผมก็ชอบที่จะไปหาคนเก่งๆ เพื่อสอบถาม พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะผมรักคนเก่ง และผมอยากจะเป็นเพื่อนกับคนเก่ง"

"ฉะนั้น พอเขาบอกอะไร ผมก็จะเชื่อ บางครั้งพาเราตกเหว เราก็ยอมตก หรือบางครั้ง เขาบอกให้เรากระโดด เราก็ต้องกระโดด นี่แหละเขารียกว่ากลยุทธ์ในการซื้อใจคน"

ฉะนั้น จะเห็นว่าจากจุดเริ่มต้นในธุรกิจค้าสัตว์ปีก จนขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่ครอบคลุมทุกๆ เซ็กเมนต์ของตลาด จึงล้วนเกิดจากความคิดของคนเก่งๆ ที่อยู่รายรอบตัวเขาทั้งสิ้น

ทั้งนั้นเพราะ "ธนินท์" คิดว่าในการทำธุรกิจ ไม่จำเป็นจะต้องทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และถนัดแต่เพียงอย่างเดียว หากจะต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจด้วย

แม้ธุรกิจนั้นเราจะไม่ถนัดเลยก็ตาม

"ผมมีความคิดว่า เมื่อเราไม่เก่งในธุรกิจที่เราถนัด เราก็หาคนเก่งมาทำแทน และบริษัทผมมีคนเก่งๆ อยู่เต็มไปหมด ผมจึงเชื่อว่า ผมโชคดีกว่าเล่าปี่ก็ตรงนี้ ตรงที่เล่าปี่ต้องไปหาขงเบ้งถึงบ้าน แต่ผมมีคนเก่งอยู่เต็มบ้าน และเรื่องอะไรผมจะไม่ขยายธุรกิจใหม่ๆ"

ตรงนี้จึงเป็นส่วนผสมอีกอย่างของ "ธนินท์" ในเรื่องของยุทธวิธีในการใช้คน โดยเฉพาะในเรื่องการใช้คนให้ถูกกับงาน และการใช้งานให้ถูกกับคน

"อย่างที่ผมบอก เมื่อเราให้ใจเขาแล้ว เราก็ต้องไว้วางใจเขาด้วย แม้ตอนแรกอาจออกมาไม่ถูกใจบ้าง หรือไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ แต่เมื่อเราเชื่อใจเขา เราก็ต้องให้เขาพิสูจน์ตัวเองด้วยว่า สิ่งที่เขาคิดนั้น ถูกต้องหรือไม่"

"เหมือนอย่างเรื่องการขยายธุรกิจในอากาศ ตอนนั้นเล่าให้ใครฟัง เขาก็หัวเราะหมด หาว่าเราฟุ้งซ่าน แต่ผมมีความคิดว่าโลกประกอบไปด้วยผืนดิน 1 ส่วน ผืนน้ำ 3 ส่วน ในส่วนของผืนดิน เราลงทุนไปแล้วมากมาย ขณะที่ผืนน้ำ ยังมีโอกาสอีกมากที่จะไป และเราก็ลงทุนไปบ้างแล้ว"

"ส่วนอากาศ ก็เรื่องของการสื่อสารทางเทคโนโลยีต่างๆ ตอนนั้นหลายคนมองว่าเป็นธุรกิจที่เราไม่ถนัด อย่าไปลงทุนเลย แต่เราเชื่อว่าธุรกิจนี้มีอนาคต ซึ่งแรกๆ อาจขลุกขลักบ้าง แต่พอผ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนเริ่มเชื่อผม และหลายคนก็เริ่มเชื่อทีมงานที่เข้าไปบุกเบิก"

"ผมจึงมีความเชื่อว่า ตราบใดที่คุณคิดว่าตัวเองเก่ง ความหายนะเริ่มใกล้เข้ามาหาตัวคุณแล้ว ดังนั้น ผมจึงต้องสอนพนักงานอยู่เสมอว่าในโลกนี้ไม่มีคนไหนเก่งตลอดกาล วันนี้คุณอาจเก่ง แต่พรุ่งนี้อาจมีคนที่เก่งกว่าคุณ"

ซึ่งเป็นสัจธรรมของมนุษย์

ในโลกของธุรกิจก็เช่นกัน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะเป็นเบอร์หนึ่งตลอดกาล ก็ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้คนอื่นก้าวขึ้นมายืนอยู่บนแท่นของความสำเร็จบ้าง

เพราะความสำเร็จมักอยู่เคียงข้างกับความล้มเหลว

ดังนั้น ทางเดียวที่จะทำให้เรา และบริษัทไม่ประสบความล้มเหลว เราจึงต้องวางแผนในการสร้างคน ฉะนั้นจะเห็นว่าก้าวต่อไปของอาณาจักร ซี.พี. จึงไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการแสวงหาผลกำไรแต่เพียงถ่ายเดียว

หากยังมุ่งเน้นในเรื่องของการคืนกำไรให้สังคมด้วย

ทั้งยังมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างคน ยิ่งเฉพาะในเรื่องของการสร้างตัวตาย ตัวแทน เพื่อจะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งบริหารในอนาคต

เพราะ "ธนินท์" มองเห็นแล้วว่า ในโลกแห่งการแข่งขันข้างหน้า ไม่ได้อยู่ที่ใครมีเงิน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่ากัน

หากอยู่ที่ใครมีทรัพยากรมนุษย์มากกว่ากันต่างหาก

ยิ่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่า ไม่เพียงจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ หากยังทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืนในอนาคตด้วย

เพราะฝันสุดท้ายของ "ธนินท์" นอกจากต้องการให้อาณาจักร ซี.พี. อยู่อย่างยั่งยืน เขายังต้องการให้อาณาจักร ซี.พี. เป็นสถาบันแห่งหนึ่งที่ทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้ในโลกธุรกิจด้วย

ซึ่งไม่ใช่ความฝันที่ไกลจากความเป็นจริงเลย?

ที่มา เส้นทางเศรษฐี /http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=07070150153&srcday=2010-01-15&search=no