ผู้เชี่ยวชาญแนะกลเม็ดพิชิตโรคหัวใจพบใน"ผู้ชาย"มากกว่า "ผู้หญิง" 4 เท่า

ผู้เชี่ยวชาญแนะกลเม็ดพิชิตโรคหัวใจพบใน"ผู้ชาย"มากกว่า "ผู้หญิง" 4 เท่า
วงการแพทย์ไทยกำลัง 'วิตก' ต่ออันตรายที่มาจาก วิถีบริโภคที่เปลี่ยนไป และที่น่าตกใจมากยิ่งกว่าก็คือ ทุกวันนี้ โรคนี้ เกิดกับ 'ผู้ชาย' โดยเฉพาะวัยทำงาน มีสิทธิ์เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ที่เกิดจากหลอดเลือดแดงอุดตัน สูงกว่า 'ผู้หญิง' มากถึง 4 เท่า

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยรายตัวนี้ ให้ฟังอย่างน่าสนใจ ว่า ปัจจุบันพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตันเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่วนสาเหตุหลักมาจากการดำเนินชีวิต และการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด หรือมักรับประทานอาหารประเภท ไขมันสูงเกินไป รวมทั้งไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทำให้ไขมันที่ได้จาก การรับประทานอาหารไปเกาะตามผนังหลอดเลือด

เมื่อนานวันจะเกิดการสะสมปริมาณไขมันที่ผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเริ่มหนาตัว โดยจะเริ่มแคบและตีบตัวลง ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก ซึ่งหากถึงภาวะที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ทัน อาจก่อให้เกิดหัวใจวายเฉียบพลันจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงควรรู้จักไขมันกันให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว

ศ.นพ.ปิยะมิตร เล่าว่า การศึกษาที่เก็บสถิติในเมืองไทย วัดจากปัจจัยเสี่ยงนั้น เกิดจากผลรวมของภาวะที่หลอดเลือดแดงหัวใจตีบตัน มาจาก 'ตะกรัน' อุดตัน ไปจับที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ จนเลือดผ่านไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง ทำให้วันนี้ คนไทยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี

"ตัวเลขที่เราเก็บสถิติได้ จาก 64,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต เกิดจากการที่คนไทย มีวิถีบริโภคที่เปลี่ยนไป ตามไลฟ์สไตล์ ที่ชอบสูบบุหรี่ ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงการที่คนไทย ไม่มีนิยมออกกำลังกาย ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น"

"โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากอุดตันของหลอดเลือดแดง ขนาดหัวปากกาเท่านั้น แต่ความรุนแรงทำให้เกิดการตายแบบเฉียบพลัน และโรคนี้เป็นปัญหาการตายอันดับ 1 ของเมืองไทย"ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว

ด้าน รศ.นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันหัวใจ อาจารย์ประจำหน่วยหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดีและเลขาธิการสมาคมแพทย์โรคหัวใจ กล่าวว่า

ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น อายุ การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหาร และการใช้ชีวิตในสังคมเมือง และต่างจังหวัด ค้นพบว่า ผู้ชายมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น 4 เท่า มากกว่ากลุ่มผู้หญิงและผู้ชายในต่างจังหวัด เป็นมากกว่าคนในสังคมเมือง แต่ก็ประมาทไม่ได้ว่า คนในสังคมเมือง มีแนวโน้มเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังจะเห็นว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง มีการประชาสัมพันธ์ ต่อการรักษาโรคนี้ เพิ่มขึ้น

นั่นแสดงให้เห็นว่า วงการแพทย์ไทย ต่างตระหนักถึงภัยแฝงที่มาจากการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

รศ.นพ.สรณ แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยว่า ผู้ที่ตรวจเลือดและพบว่า มีระดับไขมันในเลือดสูงมักรับประทานยา เพื่อให้ระดับไขมันในเลือดลดลง ซึ่งที่จริงแล้วการป้องกันไม่ให้ระดับไขมันในเลือดสูง สามารถทำได้โดยการควบคุมอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และควรออกกำลังให้มาก เพื่อรักษาระดับไขมันให้อยู่ในระดับปกติ จะช่วยให้การดำรงชีวิตเป็นปกติสุข ปราศจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตันได้ หรือรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย พร้อมกับทานยาลดไขมัน ประเภท HDL เข้าไป

ที่มา โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์/http://www.managerweekly.com/