จุดประกายความคิด รุกตลาดด้วย "ธุรกิจนวัตกรรม"

จุดประกายความคิด รุกตลาดด้วย "ธุรกิจนวัตกรรม"
ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้เพื่อซื้อทรัพย์สินทางปัญญา หรือสินค้านวัตกรรมจากต่างประเทศถึงปีละ 150,000 ล้านบาท ทั้งที่จริงไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนานวัตกรรม ได้ เนื่องจากเป็นประทศที่มีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นสูง หากผู้ประกอบการนำไปต่อยอดพัฒนานวัตกรรมจนเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ในพื้นที่และตลาดใหม่ ๆ ได้
นวัตกรรมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มตลาดนวัตกรรมกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลของ Boston Consulting Group ซึ่งสำรวจ 500 บริษัทชั้นนำใน 47 ประเทศ พบว่า 70% เห็นความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม และ 70% เพิ่มงบฯลงทุนในการพัฒนานวัตกรรม และ 50% พอใจในผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากนวัตกรรม

สำหรับ SMEs ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเงินทุน องค์ความรู้ และไม่มีตลาดรองรับในการพัฒนา นวัตกรรม แนะนำให้ใช้นวัตกรรมแบบเปิด คือ นวัตกรรมที่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี และองค์ความรู้จากภาครัฐหรือเอกชนที่มีอยู่ในตลาด นำไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในธุรกิจ ได้แก่ ผู้ประกอบการต้องมีธรรมชาติชอบของใหม่ ๆ กล้าเสี่ยง สร้างวัฒนธรรมองค์กร มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และมีตลาดรองรับ ซึ่งในงานสัมมนา "รุกตลาดด้วยธุรกิจนวัตกรรม" ที่จัดโดยสำนักงาน ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ผ่านมานั้นมีวิทยากร 2 ท่าน ได้แก่ ปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้จัดการฝ่ายสร้างองค์กรและระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ ดร.วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับนวัตกรรมไว้อย่างน่าสนใจ

ปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้จัดการฝ่ายสร้างองค์กรและระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติกล่าวว่า ผู้ประกอบการที่มีหัวใจนวัตกรรมต้องเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่องนวัตกรรมเข้าสู่ตลาด โดยผู้ประกอบการจะต้องมีความกล้าที่จะก้าวมาข้างหน้า เมื่อคิดแล้วจะต้องลงมือ ไม่ใช้เวลาโดยไม่ลงมือทำอะไรเลย หัวใจสำคัญของการนำนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดจะต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

ผลิตภัณฑ์ : ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำกับของเดิมที่มีอยู่แล้ว ที่สำคัญคือการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งผู้ประกอบการต้องให้เวลาและความสำคัญในการออกแบบสินค้าหรือบริการของตัวเอง ทำให้มีความโดดเด่นกว่าสินค้าอื่นเมื่อวางตลาดด้วยกัน รวมทั้งการตั้งชื่อของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

โอกาสทางการตลาด : ผู้ประกอบการต้องดูความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุควิกฤตเศรษฐกิจต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าสินค้านั้นจะสามารถทำส่วนแบ่งทางการตลาดที่คุ้มค่าหรือไม่

สินค้ามาถูกเวลา ถูกจังหวะ : และตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในขณะนั้น

การวางแผนธุรกิจ : คิดแบบนักธุรกิจ คือคิดว่ามีเงินแล้วต้องทำธุรกิจ คิดแบบนวัตกรรม ต้องคิดว่าไม่มีเงินแล้วต้องทำธุรกิจให้ได้ ดังนั้นต้องมีการวางแผนให้ดีในการเงิน การบัญชี การหาแหล่งเงินทุน ประเมินและวิเคราะห์ทางการเงิน การบริหารจัดการระบบขององค์กร การวางแผนการตลาด มองหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การวางตำแหน่งของสินค้าและกลยุทธ์ทางการตลาด

ส่วนการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า : สินค้าดีครบถ้วนทุกกระบวนการ แต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ก็เข้าไม่ถึงกลุ่มลูกค้า แต่อย่างไรก็ตามจะต้องพิจารณาสื่อที่ใช้ให้ดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ที่ดีและตรงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด

ด้าน ดร.วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด ผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาธุรกิจจากเครื่องสุขภัณฑ์ อ่างอาบน้ำ เริ่มจากการนำเข้าจนเริ่มดีไซน์ผลิตภัณฑ์และหา ผู้ผลิตในประเทศ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตลอดเวลา และส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดในงานที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ จนผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับกล่าวว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่ได้นำมาใช้ก็คือ ประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานการคิดและการปฏิบัติ เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน การประกันความเสี่ยงต่าง ๆ อยู่บนหลักสมดุล มีการพัฒนานวัตกรรมของสินค้าอ่างอาบน้ำ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป รวมทั้งแก้ปัญหาการถูกลอกเลียนสินค้าด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดเวลา

ลดอัตราส่วนการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้า พยายามออกแบบดีไซน์และหาผู้ผลิตในประเทศ ด้านขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศใช้กลยุทธ์ niche market ไม่แข่งกับบริษัทรายใหญ่ หาช่องทางใหม่ ๆ ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น อ่างอาบน้ำ, รีไซเคิลน้ำ, สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ, สุขภัณฑ์รีไซเคิลน้ำสำหรับปลูกต้นไม้ และการเป็นผู้ให้ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกด้าน ด้านพนักงาน ลูกค้า ผู้ถือหุ้น ชุมชน สังคม

ที่มา
หน้า 43 ประชาชาติธุรกิจ/http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02biz05040253§ionid=0214&day=2010-02-04